ฟอร์ด ประเทศไทย ประกาศกลยุทธ์รุกตลาดลูกค้ารายใหญ่ด้วยรถยนต์ฟอร์ดดัดแปลงเพื่อผลักดันธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง ชูความแตกต่างด้วยการต่อยอดจุดแข็งของรถยนต์ฟอร์ดที่โดดเด่นด้วยสมรรถนะ และความอเนกประสงค์ครบครันตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น ผนวกกับการยกระดับมาตรฐานรถดัดแปลงด้วยโปรแกรม Qualified Vehicle Modifier (QVM) ของฟอร์ด พร้อมนำเสนอโซลูชันพิเศษสำหรับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ พร้อมอำนวยความสะดวกลูกค้าด้วยนวัตกรรมด้านบริการของฟอร์ด โดยในงาน Ford Conversion Show ได้นำตัวอย่างรถยนต์ฟอร์ดดัดแปลงเพื่อการพาณิชย์ อาทิ รถตู้เย็น รถพยาบาลฉุกเฉิน รถกระเช้า รถจัดส่งสินค้า รถบริการเคลื่อนที่ ที่ผ่านการออกแบบและพัฒนาโดยพันธมิตรที่ผ่านการรับรองภายใต้โปรแกรม QVM อย่างบริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด และบริษัท เอสเอสเอส ออโตโมทีฟ อินดัสทรี จำกัด มาจัดแสดง ณ ศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมบุคลากรฟอร์ด
“ฟอร์ดเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มตลาดลูกค้ารายใหญ่ซึ่งมีความต้องการใช้รถยนต์ดัดแปลงเพื่อการพาณิชย์ จึงเข้ามารุกตลาดนี้โดยเน้นสร้างความแตกต่างด้วยการต่อยอดจุดแข็งของฟอร์ด นำรถยนต์ฟอร์ด เจเนอเรชันใหม่ ที่โดดเด่นด้านสมรรถนะและความอเนกประสงค์ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นมาทำเป็นรถยนต์ดัดแปลงที่มีคุณภาพ พร้อมยกระดับมาตรฐานไปอีกขั้นด้วยโปรแกรม Qualified Vehicle Modifier (QVM) ซึ่งเป็นมาตรฐานการดัดแปลงรถยนต์ระดับโลกของฟอร์ด ซึ่งวิศวกรฟอร์ดจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตร ผู้ดัดแปลงในการนำเสนอโซลูชันเพื่อตอบโจทย์และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของลูกค้า โดยมุ่งเจาะกลุ่มตลาดลูกค้ารายใหญ่ 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ ยาและสินค้าเวชภัณฑ์ ขนส่งโลจิสติกส์ อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในปีนี้” นายรัฐการ จูตะเสน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าว
ในปี 2565 46% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยเป็นรถกระบะ โดย 17% ของตลาดระกระบะเป็นแบบ ตอนเดียวราว 68,000 คัน ทั้งนี้ 80% ของรถกระบะตอนเดียวที่ขายในประเทศไทยเป็นรถยนต์ดัดแปลงติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม* ราว 54,000 คัน ตลาดรถดัดแปลงจึงเป็นโอกาสในการผลักดันธุรกิจของฟอร์ดในประเทศไทย โดยฟอร์ดจะทำงานร่วมกับผู้จำหน่ายและพันธมิตรผู้ดัดแปลงที่ผ่านการรับรองจากโปรแกรมQVM นำเสนอรถยนต์ดัดแปลงเพื่อการใช้งานในตัวเลือกที่หลากหลาย อาทิ รถพยาบาลฉุกเฉิน รถกระเช้า รถตู้เย็น รถจัดส่งสินค้า รถบริการเคลื่อนที่ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มองหารถยนต์ดัดแปลงที่มีคุณภาพสำหรับการใช้งานที่คุ้มค่าได้อย่างตรงจุด
“อีกสิ่งหนึ่งที่ฟอร์ดให้ความสำคัญ คือ บริการหลังการขาย เพราะฟอร์ดเข้าใจดีว่าลูกค้ารายใหญ่ต้องการรถที่พร้อมใช้งานตลอดเวลาเพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนอย่างไม่มีสะดุด รถยนต์ดัดแปลงที่ได้รับการออกแบบภายใต้โครงการ QVM และพันธมิตรของฟอร์ดจึงมาพร้อมการรับประกันคุณภาพตามเงื่อนไขจากฟอร์ดและบริษัทพันธมิตรเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและความอุ่นใจในการใช้งานให้กับลูกค้าของเรา” นายรัฐการกล่าวเสริม
โปรแกรม Qualified Vehicle Modifier กุญแจสำคัญในการยกระดับมาตรฐาน
โปรแกรม Qualified Vehicle Modifier หรือ QVM ของฟอร์ด คือ การควบคุมมาตรฐานและคุณภาพด้านการผลิตรถยนต์ดัดแปลงระดับโลก โดยทีมงานวิศวกรฟอร์ดจะให้คำแนะนำด้านวิศวกรรมพร้อมทั้งมอบแนวทางการดัดแปลงรถโดยอิงจากคู่มือการติดตั้งอุปกรณ์และตัวถัง (Body Equipment Mounting Manual หรือ BEMM) ตลอดถึงการเข้าไปตรวจสอบขั้นตอนการออกแบบติดตั้งชิ้นส่วนดัดแปลง โดยคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยในการใช้งานเป็นสำคัญ
พันธมิตรเครือข่ายผู้ดัดแปลงรถยนต์ของฟอร์ด
ภายในงานฟอร์ดยังได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนยลโฉมรถยนต์ดัดแปลงเพื่อการพาณิชย์ที่นำมาจัดแสดงเป็นตัวอย่าง เพื่อตอกย้ำความอเนกประสงค์ของรถฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ ที่โดดเด่นในแง่สมรรถนะ ความอเนกประสงค์ ครบครันด้วยเทคโนโลยีทันสมัยและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น อาทิ ช่วงล่างที่มีการปรับใหม่มีขนาดกว้างและยาวขึ้น 50 มม. พวงมาลัยไฟฟ้าแบบ EPAS ไฟหน้าเปิด-ปิด อัตโนมัติ หน้าจอทัชสกรีนขนาดใหญ่ 10.1 นิ้ว ซึ่งมาพร้อมระบบสั่งงานด้วยเสียง SYNC4A รองรับ Apple Car Play และ Android Auto และ FordPass connect ตอบโจทย์การใช้งานในเชิงธุรกิจและการพาณิชย์ที่หลากหลาย รถฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ ยังมีข้อได้เปรียบด้วยฐานล้อที่กว้างขึ้น ทำให้มีพื้นที่กระบะเพิ่มขึ้น ติดตั้งตู้ได้กว้างและยาวมากขึ้น โดยมีความกว้างสูงสุดถึง 1,910 มม. จึงมีศักยภาพในการนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ได้หลากหลายในราคาที่คุ้มค่า โดยในงานมีพันธมิตรผู้ดัดแปลงรถยนต์ภายใต้โครงการ QVM นำรถมาร่วมจัดแสดง ได้แก่
บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด ร่วมจัดแสดงรถยนต์ดัดแปลง ดังนี้
- รถพยาบาลฉุกเฉิน ดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นสแตนดาร์ดแค็บ4×4 ที่มาพร้อมอุปกรณ์ ทั้งเปลสนาม ที่นั่งผู้ดูแลผู้ป่วย 3 ที่นั่ง ตู้ยาและระบบถังออกซิเจน และระบบแสงไฟยูวี บันไดทางเข้าด้านหลัง ไซเรน
- รถกระเช้าไฟฟ้า ดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นสแตนดาร์ดแค็บ4×4 มีแขนเหล็กคุณภาพสูงสามารถยืดหดได้ มาพร้อมระบบควบคุมฉุกเฉินของฐานควบคุมและกระเช้าไฟฟ้า มีขาค้ำยันปรับระดับด้านหน้าและด้านหลัง สามารถปรับระดับตัวรถได้
- รถให้บริการเคลื่อนที่อเนกประสงค์ (Mobile maintenance – MMT Box) ดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ รุ่นสแตนดาร์ดแค็บ4×4 มาพร้อมพื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์ ถังเก็บน้ำมันและถังเก็บน้ำ
- รถทำสีพิเศษ ดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ ไวลด์แทรค ให้เป็นสีประจำองค์กรตามความต้องการของลูกค้า
บริษัท เอส เอส เอส ออโตโมทีฟ อินดัสทรี จำกัด ร่วมจัดแสดงรถดัดแปลง ได้แก่
- รถตู้เย็น ดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ รุ่นสแตนดาร์ดแค็บ และใช้คอมเพรสเซอร์ที่ใช้พลังงานขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์ (engine-driven compressor)
- รถตู้เย็นแบบ DC-Driven ดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ รุ่นสแตนดาร์ดแค็บ ที่ใช้ตัวรถเป็นตู้ทำความเย็นแบบไฟฟ้า (electric cool box) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฟอร์ดนำคอมเพรสเซอร์แบบไฟฟ้ามาใช้ในการทำความเย็นให้กับตู้เย็นที่ติดตั้งในรถกระบะ จึงไม่จำเป็นต้องดัดแปลงชิ้นส่วนในห้องเครื่องยนต์ ลดความเสี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในห้องเครื่อง มีการใช้อินเวอร์เตอร์ไดร์ฟ และอุปกรณ์ควบคุมความเร็วรอบของมอเตอร์ ใช้ไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ต่อจากแบตเตอรี่ของรถได้โดยตรง มีจุดเด่นคือการติดตั้งแบตเตอรี่ลูกที่สอง ทำให้เครื่องคอมเพรสเซอร์สามารถทำงานต่อไปได้อย่างยาวนาน แม้ว่าตัวเครื่องยนต์จะดับไปแล้ว จึงเหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการคุณภาพในการควบคุมอุณหภูมิสินค้า เช่น ผู้ผลิตสินค้าเวชภัณฑ์ รวมทั้งยังเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับบริษัทที่เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากผู้ใช้งานสามารถดับเครื่องยนต์ขณะขนส่งสินค้าโดยตู้ยังคงรักษาความเย็นได้นาน
- รถบริการเคลื่อนที่ ซึ่งดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นโอเพ่นแค็บยกสูง
- รถตู้ขนของสี่เหลี่ยมแบบพื้นเรียบ (full cargo box) ใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชัน ใหม่ สแตนดาร์ดแชสซีส์แค็บ มาดัดแปลง
- รถตู้แห้งขนของแบบครึ่งท่อน (half cargo box) รุ่นดัดแปลงโดยใช้รถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ รุ่นสแตนดาร์ดแค็บ ที่ใช้แผ่นไฟเบอร์ที่นำเข้าจากประเทศเยอรมนี มาทดแทนอะลูมิเนียมแบบรถตู้ขนของทั่วไปในตลาด โดยมีจุดเด่นที่ความแข็งแกร่ง ทนทาน น้ำหนักเบา รองรับแรงกระแทกได้ดี สามารถซ่อมแซมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายหากเกิดกรณีกระแทกหรือฉีกขาด อีกทั้งยังเป็นฉนวนกันความร้อนจากภายนอกได้ดี ซึ่งสามารถปรับขนาดตู้และเลือกออปชันได้ตามความต้องการของลูกค้า
- รถพยาบาล พัฒนามาจากรถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ มาพร้อมอุปกรณ์การแพทย์ ตามข้อกำหนดของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
ลูกค้าที่สนใจรถยนต์ดัดแปลงจากฟอร์ดยังจะได้รับความอุ่นใจด้านการใช้งานเหนือระดับ โดยรถยนต์ดัดแปลงภายใต้โครงการ QVM จะมาพร้อมการรับประกันตามเงื่อนไขระยะรับประกันรถใหม่ของฟอร์ด 5 ปี หรือ 150,000 กิโลเมตรสำหรับชิ้นส่วนที่ไม่ได้ดัดแปลง และสำหรับโครงสร้างดัดแปลง ลูกค้าจะได้รับการรับประกัน 5 ปี หรือ 150,000 กม. โดยพันธมิตรผู้ดัดแปลงรถตามเงื่อนไขที่ผู้ดัดแปลงกำหนด โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อผู้จำหน่ายฟอร์ดได้ทั่วประเทศ และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายขายลูกค้ารายใหญ่ฟอร์ด หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ฟอร์ด Ford Call Centerโทร. 1383 หรือดูข้อมูลและเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ https://www.ford.co.th/buying/fleet/
*อ้างอิงจากผลสำรวจการใช้งานนรถยนต์ในตลาดกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ในปี 2564 โดยอิปซอสส์ (IPSOS)