สิริ เวนเจอร์ส ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.อว.) นำเสนอมิติใหม่ของนวัตกรรมยานยนต์เพื่อความสะดวกสบายของการเดินทางในพื้นที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ครั้งแรกในไทย! กับเดโม่ “ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ”(Autonomous Vehicle) จากการผนึกกำลังของ สวทช. และวศ.อว. ในการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมการขับเคลื่อน ผสานกับแอพพลิเคชั่นเรียกใช้บริการยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นโดยสิริ เวนเจอร์ส กางโรดแมปเข้มข้น 8 เดือน มุ่งพัฒนา-ทดลอง-ประมวลการใช้งานยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติในสภาวะควบคุมบนพื้นที่ SIRI VENTURES Private Prop Tech Sandbox ที่ T77 Community โดยสวทช. และ วศ.อว. ตั้งเป้าส่งต่อนวัตกรรมยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติต้นแบบ สู่การขยายผลในภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 นี้ พร้อมเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จังหวัดระยอง หวังผลักดันให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ ขณะที่แสนสิริและสิริ เวนเจอร์ส วางแผนต่อยอดผลการทดสอบที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจพฤติกรรมของลูกบ้าน สู่แนวทางการให้บริการยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติในโครงการที่อยู่อาศัยของแสนสิริในอนาคต
นายจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า “บ้านในแบบของแสนสิริจะรวบรวมทุกมิติของการอยู่อาศัย นวัตกรรมจึงเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการช่วยเติมเต็มประสบการณ์การใช้ชีวิตของลูกบ้านอย่างสมบูรณ์แบบ สำหรับการทดสอบยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติบนพื้นที่SIRI VENTURES Private Prop Tech Sandbox ที่ T77 Community ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสิริ เวนเจอร์ส สวทช. และวศ.อว. จะช่วยให้เราสามารถเรียนรู้พฤติกรรมของลูกบ้านและผู้ใช้งานจริง ควบคู่ไปกับการเป็นส่วนหนึ่งของก้าวสำคัญของประเทศไทยในการร่วมพัฒนาสุดยอดนวัตกรรมยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติเพื่อให้บริการ ในพื้นที่โครงการอยู่อาศัยขนาดใหญ่ พร้อมนำร่องทดลองวิ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อต่อยอดสู่การใช้งานจริงต่อไปในอนาคต”
ด้าน ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า สวทช. มีพันธกิจมุ่งสร้างเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการออกแบบและวิศวกรรม จากการวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศอย่างมีทิศทางและยั่งยืน ซึ่งการวิจัยและพัฒนายานยนต์ขับขี่อัตโนมัติจัดเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ สวทช. ให้ความสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยยังต้องเพิ่มขีดความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำอื่นทั่วโลก ที่ได้เริ่มใช้งานยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติในภาคการคมนาคมและขนส่ง โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการเพิ่มความปลอดภัยทางถนน และช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชนและขนส่งสินค้า ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน สวทช. จำเป็นต้องร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.อว.) สิริ เวนเจอร์ส และหน่วยงานอื่น เพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ขับขี่อัตโนมัติในประเทศอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง ให้มีความยืดหยุ่น เข้าถึงง่าย และเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังผลักดันให้เกิดการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศให้ประสบความสำเร็จและก้าวทันโลกไปอีกขั้น”
การทดสอบยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติบนพื้นที่ SIRI VENTURES Private Prop Tech Sandbox ที่ T77 Community จะใช้เวลาในการพัฒนา-ทดลอง-ประมวลผลทั้งหมด 8 เดือน เริ่มต้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2019 จนถึงสิ้นสุดไตรมาสที่ 2 ปี 2020 โดย สวทช. และวศ.อว. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเพื่อควบคุมการขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี Drive-by-Wire, การบูรณาการเซ็นเซอร์สำหรับยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ, ระบบบ่งชี้ตำแหน่งและการนำทาง,สมองกลควบคุม-สั่งการการขับเคลื่อน และแผนที่ 3D ความละเอียดสูง ขณะที่สิริ เวนเจอร์สได้ร่วมพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้บริโภคเพื่อทดลองเรียกใช้บริการยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ และประมวลผลการทดสอบและพฤติกรรมการใช้งานภายใต้สภาวะควบคุม ควบคู่กับมาตรการดูแลความปลอดภัยสูงสุดของลูกบ้านและชุมชน
ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “การทดสอบวิ่งจริงของยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติในสภาวะควบคุมบนพื้นที่จริงจะเน้นการขับขี่ทั้งทางตรง ทางเลี้ยว ขึ้นเนิน รวมทั้งระบบความปลอดภัย อาทิ การทดสอบระบบหยุดเมื่อเจอสิ่งกีดขวางต่าง ๆ พร้อมกับการพัฒนาระบบสมองกลของยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติควบคู่กันไป โดยจะกำหนดเป็นเส้นทางบังคับ (Fixed Route) และเริ่มให้ลูกบ้านร่วมทดสอบใช้งานจริงผ่านแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นโดยสิริ เวนเจอร์ส เพื่อนำ User Feedback ที่ได้มาร่วมประมวลผล และพัฒนาในลำดับต่อไป ซึ่งจะเป็นไมล์สโตนในการส่งต่อนวัตกรรมเทคโนโลยียานยนต์ขับขี่อัตโนมัติต้นแบบ สู่การขยายผลต่อในภาคเอกชน เริ่มต้นกับ AIROVR สตาร์ทอัพสัญชาติไทยผู้พัฒนาระบบให้บริการสำหรับยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ ภายในไตรมาสที่ 2 นี้ ในขณะเดียวกันได้สร้างกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม (Consortium) เพื่อร่วมกันพัฒนารถฟีดเดอร์ขับขี่อัตโนมัติที่มีความพร้อมเพื่อนำไปทดสอบใช้งานจริงในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จังหวัดระยองภายในช่วงต้นปี 2021”
นายจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า “นอกจากการผลักดันให้การพัฒนาเทคโนโลยี ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยให้เกิดขึ้นจริงผ่านโปรเจค SIRI VENTURES PrivatePropTech Sandbox แล้ว เรายังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้น เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติสำหรับผู้บริโภคในคอมมิวนิตี้ในการเรียกรถไปรับ-ส่ง ณ จุดจอดใน T77 Community รวมถึงติดตามตำแหน่งของรถ ซึ่งจะเริ่มทดสอบการให้บริการยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติให้กับคนในพื้นที่ในไตรมาส 2 นี้ ควบคู่ไปกับการสอบถามความคิดเห็นเพื่อประเมินความพึงพอใจ รวมทั้งรวบรวมคำแนะนำจากผู้ใช้งาน เพื่อนำไปรับปรุง พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพการบริการของรถให้ดียิ่งขึ้น และเมื่อเทคโนโลยีดังกล่าวพร้อมใช้งานในวงกว้าง แสนสิริจะเป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ รายแรกของประเทศไทย ที่พร้อมนำร่องการให้บริการยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ เพื่ออำนวยความสะดวก และเติมเต็มประสบการณ์การใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบให้กับลูกบ้านแสนสิริ”
“ความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างสิริ เวนเจอร์ส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.อว.) ในครั้งนี้ จะสะท้อนถึงพันธกิจและความตั้งมั่นของเรา ที่ไม่เพียงแต่ให้ความใส่ใจและมุ่งเน้นในการพัฒนาคุณภาพการใช้ชีวิต แต่ยังรวมถึงการให้บริการที่เป็นเหมือนหัวใจสำคัญของผู้ให้บริการอสังหาริมทรัพย์ พร้อมทั้งบรูณาการองค์ความรู้ สร้างPropTech Ecosystem ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งเราจะแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญและมีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกัน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน ผลักดันและผลิตนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก” นายจิรพัฒน์ สรุป