ในงานเปิดตัว ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 (The MICHELIN Guide Thailand 2024) ซึ่งเป็นคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พัก ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับที่ 7 ของประเทศไทย มิชลินได้ประกาศรายชื่อร้านอาหารที่คว้ารางวัล ‘ดาวมิชลิน’ (MICHELIN Star) และรางวัลพิเศษอื่น ๆ พร้อมทั้งฉลองความสำเร็จให้แก่บุคลากรมืออาชีพในแวดวงร้านอาหารของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในครั้งนี้
คู่มือฉบับล่าสุดบรรจุรายชื่อร้านอาหารที่ผ่านการคัดสรรรวมทั้งสิ้น 447แห่ง เป็นร้านที่ได้รับรางวัล ‘2 ดาวมิชลิน’ 7 ร้าน (เลื่อนระดับจาก ‘1ดาวมิชลิน’ 2 ร้าน), รางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ 28 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 3ร้าน และเลื่อนระดับจาก MICHELIN Selected 3 ร้าน), รางวัล ‘บิบ กูร์มองด์’ 196 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 29 ร้าน และมาจาก MICHELIN Selected 3 ร้าน) และร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected อีก 216ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 37 ร้าน)
ในจำนวนร้านหน้าใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ในคู่มือฯ ฉบับล่าสุดซึ่งเป็นฉบับที่ 7 ของไทย 23 ร้านตั้งอยู่ในเกาะสมุย (ร้านระดับ ‘บิบ กูร์มองด์’ 4ร้าน และร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected 7 ร้าน) และสุราษฎร์ธานี (ร้านระดับ ‘บิบ กูร์มองด์’ 8 ร้าน และร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected 4 ร้าน) ซึ่ง ‘มิชลิน ไกด์’ ขยายขอบเขตเข้าดำเนินการสำรวจและจัดอันดับเป็นปีแรก
เกว็นดัล ปูลเล็นเนค (Gwendal Poullennec) ผู้อำนวยการฝ่ายจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ทั่วโลก เปิดเผยว่า บรรยากาศโดยรวมของภาคธุรกิจอาหารที่มีชีวิตชีวาและหลากหลายของเกาะสมุยและสุราษฎร์ธานีซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางทัศนียภาพที่สวยงามฝั่งอ่าวไทย มีผลิตผลท้องถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอาหารทะเลที่ได้คุณภาพและสดใหม่ ผสานหลากวัฒนธรรมที่รุ่มรวย ช่วยเสริมให้รายชื่อร้านอาหารของคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย มีสีสันน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
“ผู้ตรวจสอบของมิชลิน ไกด์ ได้สัมผัสความหลากหลายในแวดวงร้านอาหารของไทย ทั้งร้านอาหารสไตล์โมเดิร์นที่พยายามก้าวข้ามขอบเขตและขีดจำกัดเดิม ๆ ไปจนถึงแผงขายอาหารริมทางที่พบได้ทั่วไป ความหลากหลายที่โดดเด่นเช่นนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาด้านอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของไทย คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 ไม่เพียงสะท้อนถึงประสบการณ์สุดพิเศษดังกล่าวที่ผู้ตรวจสอบของเราได้สัมผัส แต่ยังชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มและทิศทางล่าสุดในแวดวงอาหารของประเทศไทยด้วย” มร.ปูลเล็นเนค กล่าวเสริม
แนวโน้มและทิศทางวงการอาหารของไทย: อาหารไทยสไตล์โมเดิร์น, อาหารเพื่อสุขภาพ, การผลิตอาหารอย่างยั่งยืน และบทบาทผู้หญิงที่เพิ่มขึ้น
ผู้ตรวจสอบของมิชลิน ไกด์ ซึ่งเดินทางสำรวจและคัดสรรร้านอาหารทั่วประเทศไทย พบว่ามีร้านอาหารไทยสไตล์โมเดิร์นเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร้านเหล่านี้ดำเนินการโดยเชฟรุ่นใหม่อายุน้อยที่ทุ่มเทพลังสร้างสรรค์เพื่อก้าวข้ามขอบเขตและขีดจำกัดของการประกอบอาหารแบบเดิมสู่รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “อาหารไทยสไตล์โมเดิร์น” นอกจากนี้ จำนวนร้านอาหารอีกประเภทที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ ร้านอาหารประเภทที่ต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น (Reservation Only) และร้านที่จัดที่นั่งหันหน้าเข้าครัวเพื่อให้นักชิมได้เพลิดเพลินกับการชมทุกขั้นตอนการเตรียมอาหารของเชฟอย่างใกล้ชิด (Counter Dining) ซึ่งนำเสนออาหารเชิงนวัตกรรมและอาหารสไตล์โมเดิร์นเป็นคอร์สประเภท “เมนูชวนลิ้มลอง” หรือ Tasting Menu
กระแสความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารมังสวิรัติยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในไทย โดยความต้องการที่มีต่ออาหารออร์แกนิก (Organic) และอาหารจากพืช (Plant-Based) เพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคใส่ใจในพฤติกรรมการทานอาหารมากขึ้น กระแสรักสุขภาพเช่นนี้ส่งผลให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพและอาหารออร์แกนิกสูงขึ้น ร้านอาหาร…โดยเฉพาะร้านอาหารระดับหรู…จึงเลือกใช้วัตถุดิบที่ปลูกเองหรือปลูกในท้องถิ่นและให้ความสำคัญกับการผลิตอย่างยั่งยืนมากขึ้น
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือมีเชฟและผู้ประกอบการผู้หญิงเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและผลักดันวงการอาหารทั่วประเทศ
รางวัล ‘2 ดาวมิชลิน’ มีร้านติดอันดับเพิ่มขึ้น 2 ร้าน
ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 มีร้านอาหารคว้ารางวัล ‘2 ดาวมิชลิน’ เพิ่มขึ้น 2 ร้าน โดยได้รับการเลื่อนระดับจาก ‘1ดาวมิชลิน’ ได้แก่ บ้านเทพา ร้านอาหารไทยร่วมสมัยที่นำแนวคิด Farm to Table มาใช้รังสรรค์อาหารชุด Tasting Menu ซึ่งจัดแต่งอย่างพิถีพิถันสวยงาม โดยเลือกใช้วัตถุดิบตามฤดูกาลทั้งที่ปลูกเองและที่ปลูกโดยผู้ผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืน และ กา ร้านอาหารอินเดียร่วมสมัยที่ผสานศาสตร์การทำอาหารแบบดั้งเดิมเข้ากับเทคนิคและการนำเสนอแบบสมัยใหม่ เสิร์ฟอาหารที่ผ่านการปรุงโดยใช้ทักษะและความประณีต ใส่เครื่องเทศอย่างพอเหมาะ ให้รสชาติที่ลุ่มลึกด้วยเนื้อสัมผัสที่แตกต่างและการควบคุมอุณภูมิที่ดี
เป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งสองร้านล้วนดำเนินงานโดยเชฟผู้หญิง คือ เชฟตาม – ชุดารี เทพาคำ แห่งร้านบ้านเทพา และ เชฟการิมา อโรรา แห่งร้านกา ทั้งนี้ บ้านเทพาได้รับรางวัล ‘2 ดาวมิชลิน’ จากคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 เพียงปีเดียวหลังจากขึ้นแท่นร้านหน้าใหม่ที่คว้ารางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ จากคู่มือฯ ฉบับประจำปี 2566 ไปครอง ขณะที่กาเป็นร้านอาหารอินเดีย 1 ใน 2 แห่งทั่วโลกที่ครองสถานะ ‘2 ดาวมิชลิน’ อยู่ในปัจจุบัน
รางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ มีร้านติดอันดับเพิ่มขึ้น 6 ร้าน
สำหรับรางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ ซึ่งมีร้านใหม่ติดโผ 6 ร้าน ในจำนวนนี้ 3ร้านได้รับการจัดอันดับในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย’ เป็นครั้งแรกส่วนอีก 3 ร้านได้รับการเลื่อนระดับจากร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected
ร้านใหม่ระดับ ‘1 ดาวมิชลิน’ ที่ติดอันดับในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย’ เป็นครั้งแรก ได้แก่ อินดี ร้านอาหารอินเดียสมัยใหม่ที่นำเสนอรายการอาหารชุด (Set Menu) ซึ่งจะพานักชิมท่องไปตามแคว้นต่าง ๆ ของอินเดียผ่านเมนูย่างเตาถ่านเป็นหลัก, นว ร้านอาหารไทยร่วมสมัยที่นำเสนออาหารภายใต้แนวคิดนวัตกรรม โดยใช้เทคนิคใหม่ในการรังสรรค์อาหารไทยแต่ยังคงรสชาติอาหารภาคกลางดั้งเดิมที่เรียบง่ายทว่าซับซ้อน ร้านนี้เสิร์ฟ Tasting Menu ตามฤดูกาล ซึ่งประกอบด้วยอาหารเรียกน้ำย่อยขนาดพอดีคำ (Finger Food) และอาหารจานหลักแบบสำรับหลายรายการ และ สำรับสำหรับไทย ร้านอาหารไทยที่นำเสนอ Tasting Menu จากการพลิกแพลงสูตรตำราอาหารหายากให้มีความเป็นไทยโบราณใหม่ตามยุคสมัย ได้รสชาติไทยแท้กรุ่นกลิ่นหอมระคนกัน โดยเมนูของร้านจะปรับเปลี่ยนทุกสองเดือน
ร้านใหม่ระดับ ‘1 ดาวมิชลิน’ ที่เลื่อนระดับจากร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected ได้แก่ มีอา ร้านอาหารที่นำเสนออาหารยุโรปสไตล์โมเดิร์นเปี่ยมกลิ่นอายความเป็นเอเชียแบบ 5 หรือ 8 คอร์ส ผ่านเมนู “Taste of Mia” ตามฤดูกาลที่โดดเด่นด้วยรสชาติกลมกล่อมซับซ้อน นอกจากนี้ ยังมีเมนูวีแกนและมังสวิรัติให้เลือก พร้อมทั้งให้บริการจับคู่อาหารกับค็อกเทล ม็อกเทล หรือไวน์, เรโซแนนซ์ ร้านอาหารที่นำเสนอ Tasting Menu ตามฤดูกาล และนำนักชิมเดินทางผ่านอาหารจานพิเศษซึ่งรังสรรค์ขึ้นด้วย
แรงบันดาลใจที่เชฟได้รับจากการเดินทางไปทำงานในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่นี่ยังมีบริการจับคู่อาหารกับชา (Tea Pairing) เมื่อแจ้งล่วงหน้าเท่านั้นด้วย และ วรรณยุค ร้านอาหารที่เสิร์ฟ Tasting Menu อาหารไทยร่วมสมัยตามฤดูกาลซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก “ข้าวแกง” หรือ “ข้าวราดแกง” โดยแต่ละคอร์สเลือกใช้พันธุ์ข้าวจากหลากหลายท้องถิ่นทั่วประเทศ
รางวัล MICHELIN Green Star หรือ “ดาวมิชลินรักษ์โลก” เพิ่มขึ้น 1ร้าน รวมเป็น 4 ร้าน
นอกจาก พรุ, Haoma และ จำปา ซึ่งครองรางวัล MICHELIN Green Star หรือ “ดาวมิชลินรักษ์โลก” ที่มอบให้กับร้านอาหารซึ่งดำเนินกิจการและมีแนวปฏิบัติประจำวันด้านการประกอบอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแล้ว ยังมีร้านอาหารร่วมครองรางวัลนี้อีก 1 ร้านในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2567 ได้แก่ เเฌม บาย ฌอง-มิเชล โลรองต์ ร้านอาหารฝรั่งเศสสุดสร้างสรรค์ที่เชฟและทีมงานให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยไม่เพียงเสริมสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ผลิตในไทย แต่ยังตรวจสอบแนวทางปฏิบัติงานในครัวอย่างเข้มงวดสม่ำเสมอ ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการขยะ การรีไซเคิล ไปจนถึงโครงการริเริ่มอื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
รางวัลพิเศษ 4 รางวัล
ปัจจุบัน คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย’ มอบรางวัลพิเศษรวม 4 รางวัล ให้กับบุคลากรมืออาชีพจากร้านอาหารที่ติดอันดับในคู่มือฯ ซึ่งมีความสามารถโดดเด่นและมีบทบาทในการยกระดับประสบการณ์ด้านอาหารให้ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น อันเป็นการส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมด้านอาหารและบริการเป็นที่น่าสนใจและน่าทำงานด้วย
รางวัล MICHELIN Young Chef Award
MICHELIN Young Chef Award เป็นรางวัลพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนโดย “บลองแปง” (Blancpain) แบรนด์นาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์ รางวัลนี้มอบให้กับสุดยอดเชฟรุ่นใหม่ของร้านอาหารระดับดาวมิชลินที่มีทักษะความสามารถโดดเด่น โดยผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2567 คือ เชฟ “ตาม” ชุดารี เทพาคำ จากร้านบ้านเทพา เชฟตามเป็นเชฟหญิงไทยที่ถือเป็นดาวรุ่งที่มาแรงและมีอนาคตไกล หลังสั่งสมประสบการณ์จากร้านอาหารชั้นนำอย่าง Gaggan, Water Library Group และทำงานในตำแหน่ง Chef de Partie ณ ร้าน Blue Hill at Stone Barns ในนครนิวยอร์ก เธอได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยและสร้างปรากฎการณ์น่าทึ่งให้กับแวดวงร้านอาหารในไทยเมื่อร้านบ้านเทพาของเธอก้าวขึ้นคว้ารางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ มาครองในฐานะร้านหน้าใหม่ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2566 และล่าสุดในปีถัดมายังสามารถเลื่อนระดับสู่รางวัล ‘2 ดาวมิชลิน’ ได้สำเร็จ
รางวัล MICHELIN Opening of the Year Award
MICHELIN Opening of the Year Award เป็นรางวัลพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนโดยธนาคารยูโอบี(UOB) รางวัลนี้มอบให้กับบุคลากรและทีมงานซึ่งประสบความสำเร็จในการเปิดร้านอาหารใหม่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยมีแนวคิดที่โดดเด่นในการนำเสนออาหารอย่างสร้างสรรค์ จนกลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจจากวงการอาหารในประเทศ สำหรับผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2567 คือ วิชชุพล เจริญทรัพย์ เจ้าของร้านนว ร้านอาหารซึ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2566 และติดอันดับร้านระดับรางวัล ‘1 ดาวมิชลิน’ ในคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ประเทศไทย ฉบับล่าสุดโดยคุณณพล จันทรเกตุ หรือ เชฟโจ และคู่ชีวิตของเขา เชฟซากิ ฮาชิโนะ ดูแลในครัว ขณะที่คุณเนย์ วิชชุพล เจริญทรัพย์ ทำหน้าที่ดูแลหน้าร้าน ทั้งสามคนเป็นทีมที่แข็งแกร่ง ร้านนวจึงเป็นร้านที่โดดเด่นและได้รับเลือกให้ครองรางวัล Opening of the Year Award ด้วยการรังสรรค์อาหารไทยภาคกลางรสชาติดั้งเดิมที่ผ่านการตีความใหม่ออกมาในแบบที่ทันสมัยและน่าสนใจ
รางวัล MICHELIN Service Award
MICHELIN Service Award เป็นรางวัลพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รางวัลนี้มอบให้สุดยอดบุคลากรของร้านอาหารที่ทุ่มเทให้กับการบริการเพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์การทานอาหารที่ยอดเยี่ยม สำหรับผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2567 คือหลุยส์ บูร์ชัวส์ (Louise Bourgeois) จากร้านเชฟส์เทเบิล มิสบูร์ชัวส์ ผู้จัดการร้านเชฟส์เทเบิล ให้การต้อนรับแขกผู้มาเยือนอย่างอบอุ่นและดูแลให้บริการอย่างใส่ใจ ความสุภาพและเป็นกันเองของเธอสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเป็นมิตร ขณะเดียวกันบุคลิกความเป็นผู้นำที่โดดเด่นในฐานะผู้จัดการร้านยังส่งผลต่อการให้บริการของทีมงานอย่างมืออาชีพด้วย
รางวัล MICHELIN Sommelier Award
MICHELIN Sommelier Award เป็นรางวัลที่มอบให้กับ “ซอมเมอลิเยร์” หรือผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น โดยให้บริการอย่างมืออาชีพ และมีความชำนาญในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับไวน์ชนิดต่าง ๆ รวมถึงการจับคู่ไวน์กับเมนูอาหาร เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ด้านอรรถรสสูงสุด โดยผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2567 คือ ธนากร บอทอร์ฟจากร้านอินดี คุณธนากรเป็น “ซอมเมอลิเยร์” หรือผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น สามารนำเสนอและแนะนำไวน์ที่คัดสรรมาให้เลือกมากถึง 600 ประเภท ซึ่งรวมถึงไวน์ที่เสิร์ฟเป็นแก้วเกือบ 60 ประเภทโดยจัดทำรายการไวน์พร้อมตั้งคำถามสนุก ๆ ให้ได้ทายและเรียนรู้เกี่ยวกับไวน์ เขาไม่เพียงให้บริการอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง แต่ยังเป็นนักสื่อสารที่ดีในเรื่องไวน์ ทั้งยังไม่เพียงจับคู่ไวน์ได้เหมาะกับอาหาร แต่ยังแนะนำไวน์อย่างใส่ใจและคำนึงถึงรสนิยมของลูกค้า
สรุปจำนวนร้านอาหารที่ได้รับรางวัลจากคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย2567’
ร้านอาหาร 2 ดาวมิชลิน จำนวน 7 ร้าน (เลื่อนระดับจาก ‘1ดาวมิชลิน’ 2 ร้าน) |
|
|
ร้านอาหาร 1 ดาวมิชลิน จำนวน 28 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 3ร้าน และเลื่อนระดับจาก MICHELIN Selected 3 ร้าน) |
|
ร้านอาหาร ดาวมิชลินรักษ์โลก จำนวน 4 ร้าน (ติดอันดับเพิ่มขึ้น 1 ร้าน) |
|
ร้านอาหารรางวัล ‘บิบ กูร์มองด์’ จำนวน 196 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 28 ร้าน และเลื่อนระดับจาก MICHELIN Selected 4ร้าน) |
|
ร้านแนะนำ หรือ MICHELIN Selected จำนวน 216 ร้าน (ติดอันดับครั้งแรก 37 ร้าน) |
|
|
นอกจากรายชื่อร้านอาหารแล้ว คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ยังบรรจุข้อมูลโรงแรมที่พักทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกซึ่งผ่านการคัดสรรว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นเอาไว้ด้วย ผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นของ ‘มิชลิน ไกด์’ ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทั้งยังสามารถสำรองโรงแรมที่พักผ่านช่องทางดังกล่าวได้โดยตรง อนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญของ ‘มิชลิน ไกด์’ ดำเนินการคัดสรรโรงแรมที่พักทุกแห่งโดยพิจารณาจากอัตลักษณ์เฉพาะตัว บริการ และสไตล์ที่โดดเด่น สำหรับรายชื่อโรงแรมที่พักในประเทศไทยซึ่งผ่านการคัดสรรและตีพิมพ์ไว้ในคู่มือฉบับล่าสุดครอบคลุมทั้งโรงแรมสไตล์บูติกสุดหรูดีไซน์ทันสมัยและโรงแรมที่พักเหนือระดับในกลุ่ม Plus Collection ทั้งนี้ คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ไม่เพียงได้รับยกย่องว่าเป็นบรรทัดฐานของวงการอาหาร แต่ยังมีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานใหม่ให้กับธุรกิจโรงแรมที่พัก คลิกดูข้อมูลร้านอาหารและโรงแรมที่พักซึ่งผ่านการคัดสรรทั้งหมด ตลอดจนสำรองที่นั่งและที่พักผ่านทางเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นของ ‘มิชลิน ไกด์’ ที่มีให้ดาวน์โหลดได้ฟรี เพื่อสัมผัสประสบการณ์สุดประทับใจ