Mazda CX-30 เป็นรถยนต์แนวครอสโอเวอร์ หรือใครจะเรียกว่า เอสยูวี (ไซส์เล็ก) ก็ตามสะดวก โดยมาสด้าตั้งใจผลิตออกมาเพื่อให้เป็นรถที่อยู่ในระหว่างช่องว่างของ CX-3 กับ CX-5 เพื่ออุดช่องโหว่ของคนที่ต้องการรถยนต์อเนกประสงค์ที่มีขนาดกำลังดี โดยไม่ชอบความแคบที่ด้านหลังของ CX-3 และก็ไม่ได้ต้องการความใหญ่โตเกินความจำเป็นแบบ CX-5
การดีไซน์ภายนอกก็เป็นรูปลักษณ์แบบเดียวกันกับพี่น้องในตระกูล ซึ่งมีความสวยงาม หรูหรา และให้ความรู้สึกแบบสปอร์ต ดังนั้นการจะซื้อมาสด้ารุ่นไหนก็จะได้อารมณ์ของหน้าตาภายนอกที่คล้ายกัน จะต่างกันก็ที่ขนาดของตัวถังและรูปแบบของเครื่องยนต์ ซึ่งก็คล้ายกับแนวทางของรถยนต์ยอดนิยมสายพันธุ์หรูจากฝั่งยุโรป ซึ่งแนวทางแบบนี้ก็มีคนที่ทั้งชอบและไม่ชอบ แต่สำหรับมาสด้า ณ ปัจจุบันก็ถือว่ายึดแนวทางในแบบนี้อยู่
ในเรื่องของรูปทรงภายนอก ผมขอสรุปให้เหมือนเดิมว่าขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนตัวของแต่ละคน ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ ไม่มีใครผิด แต่ถ้ามีคำถามว่าทำไมกาบข้างรถที่เป็นพลาสติกสีดำด้านถึงมีขนาดใหญ่และหนา และดูขัดสายตาของใครหลาย ๆ คน ว่าทำไมมาสด้าถึงดีไซน์ออกมาแบบนี้ ซึ่งเหตุผลของมาสด้าก็คือ การดีไซน์ตัวถังโดยใช้กาบข้างสีดำขนาดใหญ่แบบนี้ จะช่วยให้ตัวรถดูเพรียวและมีเชฟที่สวยงามกว่า เพราะถ้าไม่ใส่กาบแบบนี้ ตัวถังรถจะดูอ้วนไม่สมาร์ท และจะไม่เป็นสไตล์การดีไซน์ของมาสด้านั่นเอง
สำหรับภายในห้องโดยสาร มีการดีไซน์ที่เป็นรูปแบบเดียวกันกับ Mazda 3 แต่จะมีการเล่นสีแบบทูโทนเพื่อให้เกิดความแตกต่าง และให้อารมณ์ความเป็นรถยนต์อเนกประสงค์ที่เพิ่มมากขึ้น วัสดุที่ใช้ก็ให้ความรู้สึกที่ดีทั้งจากทางสายตาที่เห็นและการสัมผัสที่นิ่มมือ ซึ่งอารมณ์นี้สามารถขึ้นไปเทียบเคียงกับรถยนต์หรู ๆ จากทางฝั่งยุโรปได้เลย
อุปกรณ์อำนวยความสะดวกก็จัดมาอย่างเต็มที่ มีทั้งซันรูฟ, กล้อง 360องศา, ฝาท้ายไฟฟ้า, เครื่องเสียงBose แบบ 12 ลำโพง และยังรวมถึงระบบไฮเทคต่าง ๆ ที่อัดแน่นมาให้อย่างเต็มพิกัดในตัวท็อปอย่างรุ่นSP
อ่อ… เบาะปรับไฟฟ้าก็มีให้มานะ แต่มีให้ตัวเดียวเฉพาะฝั่งคนขับ ซึ่งบางคนก็อยากได้แบบครบคู่ แต่ปัญหานี้ทางทีมงานมาสด้าก็แจ้งมาว่า ในประเทศอื่น ๆ ก็ไม่มีเหมือนกันนะจ๊ะ ซึ่งจริง ๆ แล้วจุดนี้ส่วนตัวผมเฉย ๆ นะ เพราะผมโฟกัสไปที่ตัวเบาะนั่งมากกว่า เพราะถ้ามีระบบปรับไฟฟ้า แต่นั่งไม่สบาย นั่งแล้วอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ดี ถึงมีระบบปรับไฟฟ้าก็คงไม่มีประโยชน์ ซึ่งเบาะคู่หน้าของเจ้า CX-30 ก็ไม่ได้ทำให้ผมผิดหวัง เพราะมันนั่งได้สบายและกระชับกับตัว โดยเมื่อเจอกับโค้งปีกของเบาะก็จะทำหน้าที่ประคองลำตัวไม่ให้หลุดหรือไถลออกนอกตัวเบาะ
แถมให้อีกนิดสำหรับการปรับระดับพวงมาลัยที่น่าชื่นชม กับการปรับได้แบบ 4 ทิศทางและมีระยะในการให้ปรับได้มากพอสมควร จึงทำให้เราสามารถปรับท่านั่งในการขับขี่ได้ดีและเหมาะสมที่สุด เนื่องจากคนเรามีสรีระที่แตกต่างกันนั่นเอง
ถัดมากับขุมพลังที่เป็นชุดเดียวกับของ Mazda 3 แต่มีการปรับจูนให้มีความเหมาะสมกับลักษณะของตัวรถมากขึ้น และได้มีการปรับอัตราทดเฟืองท้ายให้สูงขึ้น เพื่อให้เหมาะกับลักษณะของตัวรถที่มีน้ำหนักและไซส์ยาง ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
เครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.0 ลิตร พลัง 165 แรงม้า ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 213 นิวตันเมตร ที่ 4,000 รอบ/นาที พร้อมถ่ายทอดกำลังด้วยเกียร์ออโต้ (แบบมีทอร์คคอนเวอเตอร์) 6 สปีด โดยรวมของขุมพลังชุดนี้ ถือว่าให้พลังในการเคลื่อนที่ดี สามารถตอบโจทย์การใช้งานแบบทั่วไปในชีวิตประจำได้อย่างไร้ปัญหา แต่มันก็ไม่ใช่ขุมพลังที่มีลักษณะดุดันโหดร้าย แต่จะออกเป็นแนวผู้ดีที่ชอบแสดงพลังอย่างสุภาพมากกว่า
การเร่งแซงรถช้าที่เกะกะอยู่ด้านหน้า เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก แต่ต้องรู้นิสัยของขุมพลังชุดนี้ก่อน การใช้คันเร่งแบบค่อย ๆ ไล่ขึ้นไป ไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลกับ CX-30 แต่รถรุ่นนี้ต้องการการกดคันเร่งแบบเป็นจังหวะ โดยจังหวะแรกในการเรียกพลัง ควรจะต้องกดคันเร่งไปถึงตัวสวิตซ์คลิกดาวน์ ซึ่งโดยปกติเกียร์จะเปลี่ยนจังหวะลงให้ 1 จังหวะ แต่ถ้าในการเร่งแซงการทำแบบนี้แล้วพลังได้ที่ยังออกมาไม่พอ ก็ขอให้กดคันเร่งให้มิดจนรู้สึกว่าสวิตช์คลิกดาวน์จมลงไปกับพื้นรถ เพียงแค่นี้พลังทั้งหมดที่เครื่องยนต์ตัวนี้ทำได้ ก็แปรเปลี่ยนเป็นพลังขับเคลื่อนที่ให้ความสนุกแบบเร้าใจ แต่ถ้าพลังที่ออกมาคุณยังรู้สึกว่ายังไม่พอ ก็แสดงว่าคุณเท้าหนักเกินไปสำหรับรถคันนี้
ระบบช่วงล่างที่เป็นพื้นฐานเดียวกันกับ Mazda 3 แต่อะไหล่ที่ใช้เป็นคนละตัวเกือบทั้งหมด และไม่สามารถใช้อะไหล่มาแทนกันได้ ส่วนการทำงานของช่วงล่างนั้นทางมาสด้าก็เซ็ทไว้ให้เป็นตามสไตล์ของลักษณะตัวรถ โดยเน้นความนุ่มและความสบายเป็นหลัก ในขณะที่ตัวรถมีความสูงและน้ำหนักที่มากขึ้น งานนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้เกินความสามารถของเหล่าวิศวกรของมาสด้า
การทำงานของช่วงล่างในบางสภาพของพื้นผิวถนนที่พบเจอบนเส้นทางการทดสอบ บางช่วงจะเป็นคลื่นร่อนติดต่อกันแบบยาว ๆ อาการเด้งของรถก็มีมาให้สัมผัสกันพอควร แต่มันก็แก้ไขได้ง่าย ๆ ในเบื้องต้นโดยการลดความเร็วลงมา ซึ่งจุดนี้ต้องขอลองกันอีกครั้งในเส้นทางที่แตกต่างกันอีกทีตอนนำรถมาเทสเดี่ยว เพราะเราก็อยากรู้ว่าสภาพถนนที่เราเจอในครั้งนี้มีความแตกต่างจากถนนที่อื่นทั่วไปหรือเปล่า หรือมันเป็นนิสัยของรถอย่างชัดเจน !? แต่ถ้าเป็นจังหวะที่เจอแบบหลุมเดียวอาการยุบและยืดของสปริงและช๊อคอัพก็จะทำได้อย่างดีนะ ช๊อคอัพจะจับอาการเต้นของสปริงได้อยู่หมัดในครั้งเดียว
ครั้งนี้ก็ถือว่ามีช่วงจังหวะนึงที่ได้ลองเล่นกับโค้งต่าง ๆ ด้วยความเร็วสูง เพื่ออยากรู้อาการของตัวรถ ว่าถ้าบางจังหวะไปเจอกับการขับขี่แบบโหด ๆ แล้วน้อง CX-30 จะไหวไหม !? ซึ่งผลที่ออกมาถือว่ารถยนต์รุ่นนี้สอบผ่านสบาย ตัวรถคอนโทรลง่าย พาเข้าโค้งแบบเชื่องมือ ซึ่งส่วนนึงก็คงต้องยกความดีให้กับระบบ GVC Plus ที่ช่วยทำงานแบบเนียน ๆ และมีประสิทธิภาพ แม้ความสูงของตัวรถจะมีผลบ้าง แต่ผู้ขับขี่ก็ต้องเข้าใจว่ามันเป็นครอสโอเวอร์ไม่ใช่รถเก๋งที่เตี้ยกว่า
ระบบเบรกที่มีเสียงของหลายคนที่บอกว่าไม่คุ้นและต้องปรับตัว จากการที่ต้องกดให้ลึกและต้องออกแรงกดแป้นเบรกให้มากกว่าที่เค้าคุ้นเคย แต่โดยส่วนตัวรู้สึกเฉย ๆ ไม่ต้องปรับตัวอะไร โดยความรู้สึกสามารถสั่งระยะเบรกได้ตามน้ำหนักที่กดลงไป ไม่ใช่แตะเบา ๆ แล้วเบรกหัวทิ่มเหมือนรถหลาย ๆ รุ่น ซึ่งจุดนี้สำหรับใครที่จะขับครั้งแรก ก็ลองเบรกกันดูก่อนนะครับ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัย และเบรกก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ สำหรับการขับขี่
ซึ่งเรื่องความรู้สึกในการเบรกนี้ มาสด้าตั้งใจที่จะทำให้เป็นความรู้สึกตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่มนุษย์แต่ละคนก็อาจจะมีความรู้สึกที่ต่างกัน ดังนั้นในการสัมผัสครั้งแรกก็อาจจะรู้สึกต่างกันเช่นกัน
สำหรับ Mazda CX-30 นับว่าเป็นรถยนต์ที่มีความเพียบพร้อม ทั้งในเรื่องความสวยงามภายนอก ความหรูหราของภายในห้องโดยสาร อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อัดแน่นมาให้เต็มคัน ถ้าคุณเป็นคนขับรถ และมีผู้ร่วมเดินทางในแบบ 2+2 อยู่บ่อย ๆ ก็ถือว่าน่าจะตรงกับสไตล์ของตัวรถ และรถแนวนี้โดยส่วนตัวมองว่าเหมาะสำหรับเมืองไทยที่ในชีวิตเรายังต้องเจอกับถนนที่เป็นหลุมบ่ออยู่บ่อย ๆ การก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า ซ่อมถนน วางท่อ วางระบบ หรืออื่น ๆ ที่ทำให้ผิวถนนเสียหาย หรือพอฝนตกก็เจอกับน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ ดังนั้นรถแนวนี้ก็น่าจะตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันได้ดี จึงถือว่าเป็นตัวเลือกที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจมากในช่วงเวลานี้