นิสสัน คิกส์ (Nissan Kicks) นับเป็นรถยนต์ที่มีการกล่าวขานมากในระดับนึง เนื่องจากได้ทำเทคโนโลยีแบบใหม่ที่คนไทยยังไม่คุ้นเคยเข้ามา ซึ่งก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยี ที่มีความน่าสนใจ เพราะว่ามีความล้ำสมัย สมรรถนะดี มลพิษน้อย (ขึ้นอยู่กับลักษณะการขับขี่) และประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง
จริงๆ แล้วเทคโนโลยีที่มีคนถกเถียงและพูดถึง นั่นก็คือ e-POWER นั่นเอง ซึ่งบางคนก็จะพยายามบัญญัตินิยามต่างๆ ให้กับเจ้าเทคโนโลยีนี้ แต่เอาเป็นว่าทาง Drive Motoring ขออธิบายแบบง่ายๆ ให้เข้าใจดังนี้
มุมมองของเรา e-POWER คือเทคโนโลยีของรถยนต์จากค่ายนิสสัน ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (เหมือนรถ EV ด้วยไป) แต่มีการใส่เครื่องยนต์ลงไป เพื่อไว้ผลิตกระแสไฟฟ้า โดยไม่ต้องกังวลที่จะต้องหาแท่นชาร์จ หรือกลัวว่าไฟจะหมดระวังการเดินทาง และในส่วนของเครื่องยนต์ก็ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องใดๆ กับระบบการขับเคลื่อน ไม่เหมือนระบบไฮบริดที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์
หรือลองนึกภาพว่ามันเป็นรถไฟฟ้า ที่มีเครื่องชาร์จไฟในตัว โดยเครื่องชาร์จไฟนั้นใช้น้ำมัน ก็เท่านั้นเอง
สำหรับการทดลองขับ ต้องขอบอกก่อนว่าเป็นการขับขี่ในสนามปิด ที่มีการจัดสเตชั่นให้ได้ลองกับสมรรถนะที่มีอยู่ในตัว นิสสัน คิกส์ ได้แบบจัดเต็มแม้จะมีเวลาที่จำกัดก็ตาม
เริ่มจากความประทับใจแรกที่เกิดจากความโดดเด่นของสมรรถนะจากช่วงล่าง โดยพื้นฐานช่วงล่างของรถรุ่นนี้ก็ไม่ได้มีอะไรวิจิตรพิสดาร โดยด้านหน้าเป็นแบบอิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนด้านหลังเป็น ทอร์ชั่นบีม คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง แต่กลับให้สมรรถนะที่เป็นรถยนต์นิสสันยุคใหม่ จนคนที่มาร่วมงานทดสอบต่างออกปากชื่นชม แน่นอนว่ารวมถึงผมด้วย ซึ่งความดีตรงนี้ขอยกให้เหล่าทีมวิศวกรที่ได้มีการเซ็ทช่วงล่างรถมาอย่างดี รวมถึงการบาลานซ์น้ำหนักของตัวรถด้วย
การโยนเปลี่ยนเลนแบบกะทันหัน ตัวรถสามารถสอบผ่านไปได้ด้วยดี การควบคุมทำได้ไม่ยาก รถไม่ค่อยเสียอาการ เราสามารถโยกเปลี่ยนเลนอย่างรวดเร็วด้วยความมั่นใจ ซึ่งถ้าเทียบกับลักษณะตัวรถ ถือว่ามันทำได้ดีเกินตัว ถัดมากับการสลาลมด้วยความเร็ว ระบบของช่วงล่างก็ยังทำงานได้อย่างดี และสมรรถนะที่แสดงออกมาก็ไม่ได้ทำให้เราผิดหวังอีกเช่นเคย
บางช่วงของการทดสอบ มีการปล่อยให้ลองขับแบบอิสระ เราเลยขอลองของด้วยการขับแบบโอเวอร์ลิมิต โดยการใช้ความเร็วที่เกินกว่าที่ควรจะเป็น แน่นอนว่าการขับขี่แบบนี้รถจะต้องเกิดการเสียอาการ ซึ่งการลองแบบนี้ไม่สามารถทำได้บนถนนทั่วไป แต่สำหรับสนามปิดแล้วถือว่าเป็นโอกาสอันดี เพราะในสนามปิดจะมีพื้นที่เหลือสำหรับการแก้ไขอาการ โดยไม่ต้องกังวลกับปัจจัยของเพื่อนร่วมทาง หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เราคาดไม่ถึง
โดยเมื่อผมลองขับแบบโอเวอร์ลิมิต แน่นอนว่ารถจะเกิดการเสียอาการให้รู้สึก แต่ระบบตัวช่วยไฮเทคต่างๆ อย่างเช่น VEHICLE DYNAMIC CONTROL (VDC) ที่จะคอยควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวอัตโนมัติ เมื่อรถเกิดเสียอาการระบบนี้ก็จะเข้ามาช่วยอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องแสดงฝีมือในการแก้อาการมากนัก ซึ่งมันจะช่วยในเรื่องความปลอดภัยได้ดีกับสถานการณ์การขับขี่ที่เราคาดไม่ถึง
แต่จะว่าไปช่วงล่างเค้าก็ทำมาได้ดีมากแล้ว เรียกว่าดีเกินสมรรถนะของขุมพลัง ดังนั้นโดยพื้นฐานของช่วงล่างก็น่าจะสามารถรองรับการใช้งานแบบทั่วไปได้อย่างสบายๆ แต่ถ้าคุณขับจนถึงขั้นระบบตัวช่วยออกมาทำงาน แสดงว่าคุณ “โหด” เกินไปแล้วล่ะ
ในส่วนของขุมกำลังแบบมอเตอร์ไฟฟ้าก็สามารถแสดงพลังได้อย่างโดดเด่น โดยเราได้มีการลองจับอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. กันอยู่หลายรอบกับเครื่องมือทดสอบ โดยตัวเลขที่ออกมาดีที่สุดก็อยู่ที่ 9.2 วินาที ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สวยงามสำหรับรถที่ใช้ตัวถังประเภทนี้ เรียกว่าเหนือกว่าเพื่อนๆ ในคลาสเดียวกันในเรื่องของอัตราเร่งตีนต้น แต่คิกส์ก็กลับมาต้องพ่ายแพ้ในเรื่องของความเร็วตีนปลาย ซึ่งน่าจะโดนล๊อกไว้ที่ประมาณ 155 กม./ชม. ตามแบบฉบับของรถที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าของค่ายนี้ (เดี๋ยวตอนปล่อยทดสอบเดี่ยวแบบการใช้งานจริงจะรายงานอีกทีครับ) แต่จริงๆ ความเร็วปลายประมาณนี้ก็น่าจะเพียงพอกับการใช้งานในชีวิตประจำวันแบบปกติของคนทั่วไปแล้วล่ะ
ความสนุกของการขับขี่รถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าก็คือ แรงบิดที่ติดเท้า เรียกกำลังมาใช้ได้ทันใจแบบไม่ต้องรอนานเหมือนพวกรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน
สำหรับเรื่องอัตราความสิ้นเปลือง เนื่องจากมีการใช้เครื่องยนต์เบนซินแบบ 3 สูบ ความจุขนาด 1.2 ลิตร มาเป็นแหล่งสร้างกระแสไฟฟ้า ซึ่งเครื่องยนต์ตัวนี้ก็เป็นบล็อกเดียวกับที่ใช้ในโน้ต มาร์ช และอัลเมร่าตัวเก่านั่นเอง ดังนั้นรถรุ่นนี้ก็ยังคงต้องมีการเติมน้ำมัน และอัตราความสิ้นเปลืองก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยของผู้ขับขี่ เพราะแบตเตอรี่ที่เก็บกระแสไฟฟ้านั้นมีขนาดเล็ก ดังนั้นถ้าเราใช้คันเร่งหนักๆ หรือรีดสมรรถนะของตัวรถบ่อยๆ ถี่ๆ เครื่องยนต์ก็จะต้องใช้รอบในการทำงานที่สูงเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าด้วยเช่นกัน และเมื่อเครื่องยนต์ใช้รอบที่สูง แน่นอนว่าความสิ้นเปลืองน้ำมันก็ย่อมจะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
แล้วทำไม นิสสัน คิกส์ ถึงไม่ใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ล่ะ ? จุดนี้ตอบได้ว่าจุดประสงค์ในการออกแบบของรถรุ่นนี้นั้น เน้นที่การใช้งานในเมืองเป็นหลัก และรถแนวนี้ก็ไม่ใช่รถซิ่งที่จะเน้นวิ่งเร็วแบบพร่ำพรือ ซึ่งถ้าดูข้อมูลจากอีโคสติ๊กเกอร์ก็จะเห็นว่าอัตราความสิ้นเปลืองในเมืองจะมีความโดดเด่นมาก แต่ก็ใช่ว่าการใช้งานนอกเมืองจะมีอัตราความสิ้นเปลืองที่น่าตกใจ ตัวเลขก็ยังถือว่าดีอยู่ (ใกล้เคียงอีโคคาร์) เพียงแต่ว่ามันไม่ได้โดดเด่นเหมือนตัวเลขความสิ้นเปลืองสำหรับการใช้งานในเมืองก็เท่านั้นเอง ซึ่งจุดนี้ก็ถือว่าตรงตามความต้องการในการออกแบบของนิสสันเค้า
ดังนั้นถ้าความต้องการในการใช้รถของคุณอยู่ที่การขับขี่ในเมืองเป็นหลัก ก็ต้องถือว่า นิสสัน คิกส์ มีความโดดเด่นและน่าจะตรงกับลักษณะการใช้งานของคุณ
ถัดมาขออธิบายต่อเกี่ยวกับเรื่องการไม่ใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่เพิ่มเติม นั่นก็คือเรื่องของต้นทุนที่จะต้องเพิ่มมากขึ้น และราคาขายของคิกส์ ก็จะสูงเกินไปจนไม่มีความน่าสนใจ รวมถึงพื้นที่ของตัวรถบางส่วนจะต้องหายไป และจุดวางแบตเตอรี่ก็ต้องเป็นจุดที่ต้องบาลานซ์น้ำหนักให้ดีอีกด้วย ซึ่งรวมๆ แล้วความลงตัวจึงออกมาเป็นแบบนี้ ดังนั้นถ้าเราเข้าใจถึงจุดประสงค์ในการออกแบบของตัวรถ และเราชื่นชอบในสไตล์แบบนี้ รวมถึงความเข้าใจในลักษณะการใช้งาน เราก็จะเลือกรถคู่ใจมาใช้ได้ไม่ยากในท่ามกลางตัวเลือกที่มากมายในปัจจุบัน
ครั้งนี้ถือว่าเป็นการรีวิวแบบพิสูจน์สมรรถนะกันในสนาม ซึ่งก็เป็นอีกแง่มุมนึงของตัวรถ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความรู้สึกสำหรับการใช้งานจริงบนถนนหลวงทั่วไป ซึ่งการรีวิวแบบการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ก็คงต้องรอคิวรถในการทดสอบกันอีกซะพัก ซึ่งถึงเวลานั้นเราจะนำข้อมูลในสไตล์เราๆ มานำเสนอกันอีกครั้ง และเมื่อถึงเวลานั้น นิสสัน คิกส์ จะเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับใจคุณหรือป่าว ก็คงจะรู้กัน !!