นับว่าครั้งนี้โตโยต้าเดินแรง และน่าจะมีความคาดหวังเกี่ยวกับตัวเลขไว้สูงทีเดียว โดยเริ่มแรกดูจากการลงทุนในการจ้างพรีเซนเตอร์ระดับอินเตอร์ และเมื่อมาดูตัวรถก็เห็นได้ชัดเจนว่าครั้งนี้พี่เค้า “จัดเต็ม” โดยเฉพาะในเรื่องของออฟชั่นที่ใส่มาจนล้น แบบเพื่อน ๆ ในกลุ่มต้องมองค้อน ดีไม่ดีพวกรุ่นพี่ ๆ เองยังต้องมองแบบอิจฉาอีกด้วย
เริ่มต้นจากการออกแบบตัวถังสไตล์ ”Fastback style” ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมในรถยุโรปหลายรุ่น หรูหรามากขึ้น และยังส่งผลให้ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศต่ำเพียงแค่ 0.284 นอกจากนี้ YARIS ATIV ใหม่ ทุกรุ่นจะมาพร้อมไฟหน้าแบบ Full LED ล้ออัลลอยด์ Two tone ขนาด 16 นิ้ว และยังมีไฟท้ายแบบ Full LED Light-guiding ไฟเลี้ยวSequential ใหม่
การดีไซน์ภายในออกมาในแนวเรียบหรู ดูดี และมีการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ ของอุปกรณ์ หรือการใช้งานได้ค่อนข้างสะดวกทีเดียว ส่วนสิ่งที่โดดเด่นล้ำกว่าใครในกลุ่ม ก็เป็นเรื่องของพวกเบรคมือไฟฟ้า EPB รวมทั้งไฟ “Ambient light” ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศในห้องโดยสาร โดยสามารถปรับได้ถึง 64 เฉดสี รวมถึงและหน้าปัด Full digital ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ ในแบบที่คนขี้เบื่อน่าจะชอบ
ขุมพลังแม้หลายคนอาจจะผิดหวังที่ไม่เป็นเครื่องยนต์พันโบ (ขนาดหนึ่งพันซีซี พร้อมระบบอัดอากาศ) เหมือนเพื่อน ๆ อีก สองค่าย โดยโตโยต้ายังใส่เครื่องยนต์ตัวเดิมนขาด1.2 ลิตร แบบไร้ระบบอัดอากาศมาให้ใช้งานกัน แต่ก็ได้มีการปรับปรุงใหม่ ให้มีการตอบสนองในการใช้งานที่ดีขึ้น
ตัวเลขตามสเปกของขุมกำลังตัวนี้ก็คือ เครื่องยนต์ Dual VVT-iE ขนาด 1.2 ลิตร 4 สูบ แถวเรียง DOHC 16 วาล์ว กำลังสูงสุด 94 แรงม้า (69 กิโลวัตต์) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 110 นิวตัน–เมตร (11.2 กก.– เมตร) ที่ 4,400 รอบต่อนาที ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i พร้อม Sequential Shift และขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หน้า
สำหรับการใช้งานจริง ในตอนแรกก่อนขับผมก็ยังกังวลในเรื่องของพละกำลัง เนื่องจากเคยลองขับในรุ่นก่อนแล้วไม่ทับใจเป็นอย่างแรง เนื่องจากการตอบสนองช้า อืด และกังวลในเรื่องของการเร่งแซง แต่สำหรับในรุ่นนี้เมื่อได้ลองขับก็รู้สึกได้ถึงความแตกต่างในการตอบสนอง บอกเลยว่ามันดีกว่าที่คิดกังวลในตอนแรกมาก
การตอบสนองในช่วงความเร็วต่ำ เมื่อเราเติมน้ำหนักคันเร่ง ตัวรถก็สามารถเพิ่มความเร็วด้วยความกระฉับกระเฉง ทำให้สามารถเคลื่อนไหวไปกับสภาพการจราจรได้อย่างคล่องตัว การเร่งแซงแบบค่อย ๆ เติมคันเร่ง ให้ความคล่องแคล่วมีการตอบสนองที่ค่อนข้างทันอกทันใจ แต่… ถ้าเป็นคนขับสไตล์ใจร้อน ชอบเร่งแซงแบบเหยียบมิด เพื่อจะดึงพลังแบบสุด ๆ ก็จะพบว่ากำลังของเครื่องยนต์พันสอง ที่ไม่มีเทอร์โบ มันก็มีกำลังอยู่เท่านั้นแหละ ไม่ได้แรงจี๊ดจ๊าดดุดัน เหมือนพวกเครื่องพันโบ
แต่ถ้ามีการขับแบบเติมคันเร่งแบบไหลลื่นตามการจราจร ความรู้สึกก็ต่างกันไม่เยอะเมื่อเทียบกับเครื่องพันโบ ซึ่งตรงจุดนี้ต้องขอชมเหล่าวิศวกรของโตโยต้าที่สามารถปรับจูนได้เก่งและเนียนดีทีเดียว
ถ้ามีข้อสงสัยในเรื่องของท็อปสปีด แบบรู้ไว้ใช่ว่า แต่ในยุดนี้คงไม่มีใครขับกันแล้วกับเรื่องของความเร็วสูงสุด ก็ขอบอกไว้ว่าทางโตโยต้าเค้าล๊อกความเร็วไว้ที่ 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง
นอกจากเรื่องของสมรรถนะที่มีการตอบสนองที่ดีขึ้นแล้ว จุดเด่นอีกอย่างที่น่าสนใจก็คือ เรื่องของอัตราความสิ้นเปลืองที่ทำตัวเลขได้ค่อนข้างจะสวยงาม โดยครั้งนี้เป็นการขับขี่แบบการเดินทางไกลเป็นหลัก ดังนั้นในเรื่องของอัตราการสิ้นเปลืองในเมืองจึงขอติดเอาไว้ก่อน แต่ในการขับขี่ทางไกลนั้น ค่าเฉลี่ยที่ดูมาจากหลาย ๆ คน ที่ขับขี่กันแบบหลายสไตล์ ไม่ได้เน้นปั้นในเรื่องของตัวเลข ก็จะอยู่ที่แถว ๆ 16-18 กิโลเมตร/ลิตร
ส่วนคันของผมก็มีการลองขับแบบหลายรูปแบบ ในช่วงที่ใช้คันเร่งเปลือง ๆ ก็จะได้ตัวเลขอยู่แถว 18 กิโลเมตร/ลิตร ส่วนถ้าขับแบบใช้คันเร่งไม่เปลือง แต่ก็ใช้ความเร็วอยู่ในช่วงกฎหมายกำหนด ขับไหลลื่นไปตามสภาพการจราจร ตัวเลขที่ได้ก็จะอยู่ที่ 20-22 กิโลเมตร/ลิตร เลยทีเดียว ถือว่าสวยงามนะ ตัวเลขแบบนี้ไม่ต้องง้อพวกรถไฮบริดก็ได้ ค่าตัวรถก็ไม่แพง จุดนี้บอกเลยชอบและยั่วใจให้อยากหามาใช้งานในยุคน้ำมันโคตรแพงแบบนี้บ้าง
ในส่วนของระบบของช่วงล่างนั้น ที่ด้านหน้าเป็นแบบแม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีมและคอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง ซึ่งการตอบสนองของช่วงล่างนั้นก็ทำได้ค่อนข้างดี มีความนุ่มนวลให้ความสบาย และในช่วงการใช้ความเร็วสูงก็ยังให้ความมั่นใจในเรื่องของการยึดเกาะถนน เรียกว่าสมรรถนะของช่วงล่างนั้นดีเกินหน้ากว่าเรื่องสมรรถนะของเครื่องยนต์
จะรู้สึกตงิด ๆ ในใจก็ในเรื่องของฟีลิ่งของพวงมาลัย ที่โดนส่วนตัวจะรู้สึกขัด ๆ กับมันนิดหน่อย แต่คนในกลุ่มที่ร่วมทางกันไปส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ยินเสียงบ่นอะไรกันนะ อันนี้เลยอยากให้ลองขับด้วยตัวเองแล้วค่อยตัดสินกันอีกที
ระบบเบรกในรุ่นที่ลองเป็นดิสก์เบรกแบบ 4 ล้อ และการขับขี่ก็เป็นในแบบการใช้งานทั่วไป ไม่ได้มีเหตุการณ์ที่ต้องใช้เบรกแบบหนักหน่วง หรือมีโอกาสได้ลองเบรกแบบหนัก ๆ จึงยังไม่สามารถบอกแบบชัด ๆ ได้ แต่ถ้าในการใช้งานแบบปกติทั่วไป ถือว่าระบบเบรกดี ไว้ใจได้แบบไม่ต้องกังวล
ระบบ Adaptive cruise control แบบ All-Speed ที่นับเป็นอีกหนึ่งจุดเด่น ที่สามารถจะขิงใครก็ได้ ส่วนในการใช้งานจริงก็ทำได้ดีพอประมาณ แต่จุดที่รู้สึกไม่โอเค นั้นก็คือการตั้งระยะห่างจากคันหน้า ซึ่งมันห่างมากเกินไป แม้จะเป็นระยะที่ในบางประเทศเค้าแฮปปี้เนื่องจากระเบียบวินัยที่เคร่งครัด แต่สำหรับในเมืองไทยที่ชินกับการขับขี่ที่ทิ้งระยะจากคันหน้าไม่มากนัก เมื่อใช้ระบบนี้ก็อาจจะรู้สึกอึดอัด แล้วก็น่าจะโดนรถคันอื่นแทรกเข้ามามากมายแน่ ๆ ซึ่งมันก็จะทำให้เราเสียจังหวะ และเสียอารมณ์ในการขับขี่ได้
สำหรับจุดเด่นของออฟชั่นที่ทางโตโยต้าอัดแน่นมาในเจ้ารถรุ่นนี้ที่โดดเด่นและน่าสนใจก็เช่น
- ระบบความปลอดภัยก่อนการชนPCS (Pre-Collision System)
- ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลนพร้อมพวงมาลัยดึงกลับอัตโนมัติLDA (Lane Departure Alert)
- ระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนตัว(Front Departure Alert)
- ระบบป้องกันการเหยียบคันเร่งแบบผิดวิธี(Pedal Misoperation Control)
- ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ(Auto High Beam)
- รวมถึงระบบช่วยเตือนความปลอดภัยอื่นๆเช่น BSM, RCTA, Panoramic View Monitor และสัญญาณกะระยะรอบคัน
- Push start / Smart entry และวิทยุหน้าจอสัมผัสรองรับApple Car Play, Android auto ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น
- ระบบT-Connect เป็นมาตรฐานทุกรุ่น
- ระบบปรับอากาศอัตโนมัติพร้อมระบบตรวจวัด และกรองฝุ่น PM 2.5 พร้อมช่องแอร์ด้านหลัง
- เบรคมือไฟฟ้าEPB และระบบหน่วงเบรคอัตโนมัติ ABH
- ลำโพงPioneer Premium Speaker 6 ตำแหน่ง
- เครื่องเสียงขนาดหน้าจอสัมผัสขนาด9 นิ้ว ช่องต่อ USB ด้านหลัง กล้องบันทึกเหตุการณ์หน้ารถ
โดยรวม ๆ จะเห็นได้ว่าครั้งนี้โตโยต้าใส่เต็มจริง ๆ สำหรับรถยนต์รุ่นนี้ ซึ่งก็คุ้มค่ากับผลการตอบรับอย่างท่วมท้นจากตัวเลขยอดจองที่เข้ามาอย่างถล่มทลาย
สำหรับใครที่กำลังมองหารถยนต์ไว้ใช้งานในชีวิตประจำวัน แบบไม่เน้นบ้าพลัง แต่เน้นประหยัด อึด ๆ ทน ๆ ดูแลรักษาง่าย และที่สำคัญมีออฟชั่นล้น ๆ คุ้มราคา ก็ถือว่าในชั่วโมงนี้ TOYOTA YARIS ATIV มีความโดดเด่น และมีคุณสมบัติแบบครบเครื่อง ซึ่งรถแบบนี้ไม่ต้องคิดมาก “ซื้อได้เลย”