หลังจากมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในระดับโลกแบบออนไลน์ และต่อเนื่องด้วยการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่แบบอลังการงานสร้างในประเทศไทย ซึ่งหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันทางนิสสันก็ได้มีการจัดงานเทสแบบออฟโรด โดยได้มีการจำลองสภาพสนามแบบลุยๆ ให้เหล่าบรรดาสื่อมวลชนได้ลองสัมผัสกับสมรรถนะของรถปิคอัพรุ่นล่าสุดกัน
นอกจากหน้าตาภายนอกที่มีการปรับโฉมใหม่แบบชุดใหญ่ที่ด้านหน้าและด้านหลังแล้ว ในส่วนของออฟชั่นต่างๆ ก็จัดมาให้แบบเต็มเหนี่ยวพอสมควร จนเรียกว่าไม่น้อยหน้าใครในตลาดรถปิกอัพ ณ ปัจจุบัน โดยจุดเด่นที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษก็คือไฟหน้าแบบ LED ที่มีการดีไซน์เลนส์ภายในเป็นลักษณะรูปน้ำแข็ง 4 ก้อน ซึ่งมีความโดดเด่นแบบแตกต่าง และช่วยเพิ่มราศีให้กับหน้าตาของนาวาราได้เป็นอย่างมาก
ส่วนอีกอย่างที่ชอบเป็นพิเศษก็คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า ที่โดยปกติรถยนต์ทั่วไปจะมีการประมวลผมจากแค่รถยนต์คันหน้า แต่ทางนาวาราได้เพิ่มความล้ำเข้าไปอีกคัน โดยจะมีการตรวจจับความเร็วและพฤติกรรมของรถยนต์คันถัดไปอีกคันด้วย ซึ่งการประมวลผลแบบละเอียดอย่างนี้ ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ไปได้ในอีกระดับเลยทีเดียว
สำหรับรายละเอียดของ NISSAN NAVARA สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://drivemotoring.com/2020/11/10/นิสสัน-นาวารา-ใหม่-บุก/
วกกลับเข้ามาสู่เรื่องการทดสอบกันในสนามดีกว่า การทดสอบในครั้งนี้จะอยู่ในสนามจำลองที่ทางนิสสันได้สร้างขึ้นมา โดยแต่ละฐานการทดสอบก็ถือว่าไม่ธรรมดากับอุปสรรคจำลอง ที่จะได้ลองสัมผัสกับสมรรถนะของตัวรถ ซึ่งเอาจริงๆ ในบางฐานการทดสอบเราเชื่อว่า ถ้าผู้ใช้รถทั่วไปอยู่ในสถานการณ์จริง ก็คงจะไม่ลุยไปต่อแน่ แต่ครั้งนี้เค้าจำลองสถานการณ์มาให้เราให้ทดลองขับ ดังนั้นอย่ารอช้าเราไปลุยกันเลยดีกว่ากับเจ้านาวารา รุ่น PRO-4X ซึ่งถือว่าเป็นตัวท๊อปที่มีราคาสูงสุดของรุ่น ณ ตอนนี้
เริ่มแรกกับฐานการข้ามอุปสรรคแบบเนินสูงที่ขวางหน้า ซึ่งมีความลาดชันพอประมาณซึ่งไลน์การขับขี่จะถูกบีบให้ขับปีนข้ามไปไม่ยากลำบากนัก แม้บางช่วงจะมองไม่เห็นทาง แต่ก็สามารถที่จะดูตัวช่วยจากกล้องที่จะแสดงภาพบนจอที่บริเวณคอนโซลกลางได้ แม้ภาพที่แสดงบนจอจะยังไม่คมชัดในแบบที่เราต้องการ แต่มันก็สามารถแสดงภาพให้เราได้เห็นรายละเอียด จนสามารถช่วยในการตัดสินใจในการขับขี่ได้อย่างไม่ยาก
ถัดมากับฐานเนินดินที่รถจะต้องไต่แบบเอียงๆ ซึ่งฐานนี้ก็ตัวรถก็ได้ทำการผ่านไปได้แบบไม่ยาก ไม่ต้องลุ้น ไม่ต้องเกร็ง แต่ถ้าเป็นคนที่เคยลองขับครั้งแรกอาจจะมีความเสียวๆ อยู่บ้าง แต่มันก็ยังไม่ได้ปัญหาอะไรกับตัวรถ
หลังจากขับผ่านฐานเนินดินเอียงแล้วก็เข้าสู่การลองปีนไต่ระดับความเอียงอีกครั้ง โดยมีการใช้เหล็กมาทำฐานให้ลองปีนไต่ ซึ่งมุมองศาก็มีระดับความเอียงที่มากขึ้น และยังสามารถปีนได้สูงกว่าระดับที่เค้ากำหนดได้อีกเล็กน้อย โดยตัวรถก็พาเราผ่านไปได้อย่างมั่นใจ โดยการขับขี่ควรต้องทำตามคำแนะนำของทีมงานอย่างเคร่งครัด เนื่องจากบางจังหวะ อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุจากความผิดพลาดได้
ถัดมาก็จะเป็นการขับลงบ่อลุยน้ำ โดยน้ำที่ลุยในตอนแรกทีมงานได้จัดเตรียมความลึกไว้ประมาณ 60 เซนติเมตร แต่ช่วงเวลาที่เราได้ลองขับปริมาณน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นมา ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ราว 70 เซนติเมตร แต่ความสูงของระดับน้ำขนาดนี้ก็ยังไม่ใช่ปัญหาของนาวารา เพราะเราก็ได้ขับลุยไปแบบชิวๆ โดยไร้ปัญหา
เมื่อพ้นบ่อน้ำก็จะมาพบกับเส้นทางกรวด ซึ่งทางนิสสันได้จำลองสภาพเส้นทางโดยเอาหินมาทำเป็นพื้น เพื่อให้เกิดอุปสรรคในแบบสไตล์พื้นไม่เรียบ ซึ่งฐานนี้ทางเจ้าหน้าที่แนะนำให้ขับรูดไปด้วยความเร็วประมาณ 40-50 กม./ชม. เพื่อให้ได้ลองกับอาการตอบสนองของช่วงล่าง และการส่งแรงหรืออาการตอบสนองของพื้นผิวถนนที่ส่งมาถึงพวงมาลัย ซึ่งฐานนี้ทำให้เรารู้ว่า ช่วงล่างของนาวาราใหม่นี้ มีการปรับให้มีความนุ่มนวลที่มากขึ้น ส่วนอาการต่างๆ ที่ส่งมาที่พวงมาลัยก็แทบจะไม่มีเลย เรียกว่างานนี้ทางทีมวิศวกรของนิสสันน่าจะทำการบ้านมาดีทีเดียว แต่สำหรับความนุ่มนวลชวนสบายของช่วงล่างนี้ ก็ต้องขอวิเคราะห์อีกทีสำหรับการใช้งานจริงบนท้องถนน เพราะเมื่อใช้ความเร็วในการขับขี่จะมีอาการย้วยหรือนิ่มเกินไปไหม ซึ่งกรณีนี้ก็ต้องอดใจรอกันไปก่อน จนกว่าจะมีการทดสอบบนถนนปกติกันอีกครั้งนะครับ
จากนั้นก็เข้าสู่ไฮไลต์สำคัญ กับการปีนไต่ทางชันบนภูเขาจำลอง แม้ภูเขาจำลองจะมีความสูงไม่มากนัก แต่องศาความเอียงถือว่าดุอยู่พอสมควร การไต่ขึ้นไปนอกจากต้องใช้โหมด 4L แล้ว ยังต้องเลี้ยงรอบในการขับขี่อยู่แถวๆ 1,700-1,800 รอบ/นาที เพราะถ้ากดเลยรอบช่วงนี้ไป ก็จะเกิดอาการล้อฟรี ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถปีไต่ขึ้นไปได้ ส่วนการมองทางก็ต้องอาศัยจอแสดงภาพที่คอนโซลกลางแทน เนื่องจากเราจะไม่สามารถมองเห็นทางวิ่งที่ด้านหน้าได้
การขึ้นที่ว่าเสียวแล้ว แต่ตอนลงก็สร้างความเสียวได้ไม่แพ้กัน เนื่องจากมุมที่เค้าเซ็ทเอาไว้ จะทำให้รถเหมือนลงมาในลักษณะดิ่งจนบางคนรู้สึกกลัวว่ารถจะพลิกหงายตีลังกาลงมา โดยการขับขี่ก็ต้องใช้เบรกช่วยตั้งแต่จุดที่เริ่มหักหัวลงมา เนื่องจากระบบตัวช่วยของรถยังไม่สามารถทำงานได้ทัน
สุดท้ายกับการให้ขับลงบ่อลึกที่มีความชัน โดยฐานนี้ทางนิสสันจะสื่อให้เห็นถึงการออกแบบมุมองศาต่างๆ ของตัวรถ ที่สามารถขับลงบ่อลึกแบบนี้ได้โดยตัวถังของรถจะไม่มีการโดน หรือการกระแทกใดๆ
บทสรุปสำหรับการทดลองขับในช่วงเวลานั้นๆ แบบลุยๆ ในครั้งนี้ ก็ค่อนข้างจะชอบในเรื่องความนุ่มนวลของช่วงล่าง การบังคับควบคุมของพวงมาลัย แต่ความนุ่มนวลแบบนี้จะมีความย้วยหรือความไม่มั่นคงที่ช่วงความเร็วสูงสำหรับการเดินทางหรือเปล่า ก็คงต้องรอให้ได้สัมผัสกับการทดลองขับบนถนนแบบการใช้งานจริงดูก่อน ถ้ายังสร้างความมั่นใจในการขับขี่ได้ดี ก็ถือว่านิสสันเซ็ตช่วงล่างมาได้แจ๋วเลยทีเดียว
ทิ้งท้ายอีกนิดกับสิ่งที่อยากให้นิสสันปรับก็คือ รัศมีวงเลี้ยวที่รู้สึกว่ากว้างไปหน่อย จนเกรงว่าจะทำให้มีการใช้งานที่อาจจะไม่คล่องตัว ยิ่งโดยเฉพาะตอนที่ต้องกลับรถในถนนที่แคบๆ ซึ่งอาจจะทำให้ต้องโยกสองรอบกันเลยทีเดียว