ท่ามกลางการรีวิว หรือบทความเกี่ยวกับการทดสอบฮอนด้าซิตี้ที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน ซึ่งความหลากหลายที่เกิดขึ้นก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์กับผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูลในหลายด้าน และทาง Drive Motoring ก็ได้มีการนำเสนอในอีกมุมมองที่แตกต่างอีกด้าน เพื่อหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภคนั่นเอง
เริ่มต้นแบบไม่ต้องเสียเวลารำกันมาก ก็ว่าในเรื่องของการดีไซน์กันก่อน ในเรื่องการออกแบบภายนอกก็ถือว่าสวยงามตามแบบฉบับของฮอนด้า ที่ยังไม่ได้มีการฉีกแนวแตกแถวจากรุ่นอื่นในตระกูล ซึ่งก็น่าจะโดนใจใครหลาย ๆ คน แต่มุมนึงก็อาจจะมองได้ว่าไม่ได้สร้างความโดดเด่นให้เกิดขึ้นอย่างแตกต่าง และยังมีมุมมองบางส่วนที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับรถยุโรปพันธุ์หรู ซึ่งโดยส่วนตัวผมถือว่าโอเคนะ แต่ตามสายตาของท่านผู้อ่านบางท่านก็ต้องขึ้นอยู่กับรสนิยมนะจ๊ะ
ภายในห้องโดยสารออกแบบในแนวเรียบ ๆ แต่ดูดี จุดเด่นอย่างแรกยกให้ในเรื่องของความกว้างขวาง ถัดมาก็ชอบในเรื่องของการปรับท่านั่งของคนขับ แล้วก็ตามมาด้วยวงพวงมาลัยที่มีขนาดและรูปทรงกำลังดี แถมหุ้มหนังที่จับแล้วให้ความรู้สึกกระชับและให้ความรู้สึกที่ดี ส่วนในเรื่องของวัสดุในหลาย ๆ ส่วน เช่น เนื้อพลาสติกตรงคอนโซลหน้า หรือตามแผงประตู ถ้ามองผ่าน ๆ ก็อาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าได้ลองสัมผัส หรือถ้าซน ๆ หน่อยแบบเอามือเคาะ ก็จะรู้สึกแบบว่า ช่วยปรับให้มันดีขึ้นอีกหน่อยเถอะจ๊ะ เพราะมันทั้งบางและแข็ง แม้ตรงที่ท้าวแขนตรงบริเวณประตูจะมีการหุ้มหนังเพื่อให้เกิดการสัมผัสที่นุ่มขึ้น แต่ก็อยากให้อัพเกรดเนื้อพลาสติกอีกซะนิดอ่ะจ๊ะ
ส่วนช่องวางแก้ว วางของจุกจิก ช่อง USB และอื่น ๆ โดยรวมถือว่าออกแบบมาเอาใจคนไทยได้ดี แต่ในส่วนของผู้โดยสารตอนหลังแม้มีความกว้างขวางแบบคนสูงใหญ่ก็ยังนั่งได้แบบสบาย แต่ก็ยังรู้สึกว่าขาดการเอาใจทั้งในเรื่องของที่ท้าวแขนกลาง ช่องแอร์หลัง และช่อง USB หรือช่อง Power Outlet ที่ในยุคนี้ควรจะมีมาให้แบบครบ ๆ
ฮือฮาสุด ๆ กับขุมพลังในการขับขี่ที่ถือว่าเรียกเสียงวี๊ดวิ้วจนสร้างกระแสได้ดี กับความเร็วตีนปลายที่ทะลุย่านตัวเลขระดับ 200 กม./ชม. นั้นถือว่าเรียกแขกได้ไม่น้อย แต่สำหรับการใช้งานจริงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นเลย
มาดูสเปกจากโรงงานกัน เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร DOHC VTEC TURBO 3 สูบ 12 วาล์ว มาพร้อม Turbo Charger ที่ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 173 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000 – 4,500 รอบต่อนาที ผสานการทำงานกับระบบเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง (CVT) ให้อัตราการประหยัดน้ำมันสูง 23.8 กิโลเมตร/ลิตร ผ่านมาตรฐานไอเสียยูโร 5 (EURO 5) ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 99 กรัม/กิโลเมตร และสามารถรองรับน้ำมันได้ถึง E20
สำหรับการขับขี่จริง การออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง ช่วงแรกจะมีอาการรออยู่หน่อย ๆ แต่ก็ใช้เวลาอีกชั่วอึดใจ เครื่องพันเทอร์โบก็จะแผลงฤทธิ์ให้เห็นถึงศักยภาพที่มีเกินตัว เข็มความเร็วจะกวาดขึ้นมาอย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งจากการจับตัวเลขอัตราเร่งโดยเครื่องมือทดสอบในโหมด D อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. จะทำเวลาได้ 10.2 วินาที ส่วนในโหมด S เวลาจะดีขึ้นมาอีกนิดที่ 10.1 วินาที ซึ่งทั้งนี้ตัวเลขต่าง ๆ อาจจะดีขึ้นหรือแย่ลงก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย โดยตัวเลขที่เราได้จากเครื่องมือทดสอบนั้น ก็นับเป็นเกณฑ์ของมาตรฐานทั่วไป ที่ได้นำมาประกอบในคอลัมน์เพื่อเป็นอีกหนึ่งในข้อมูล
ในส่วนของเกียร์อัตโนมัติถือว่าทำงานได้ดี มีทั้งความนิ่มนวลและถ่ายทอดสมรรถนะจากเครื่องยนต์ได้ดี มีการเซ็ทการทำงานที่ให้อารมณ์ในการขับขี่ที่ดีขึ้นกว่าเกียร์ CVT ในยุคก่อน ๆ ส่วนการใช้งานแบบโหด ๆ ก็ยังไม่เจออาการเอ๋อ ซึ่งจุดนี้ถือว่าฮอนด้าทำได้ดีกับเรื่องของระบบส่งกำลัง 👍🏻
ลักษณะนิสัยของ ฮอนด้า ซิตี้ รุ่นนี้ถ้าต้องการอัตราเร่งสำหรับการขับขี่ ก็ควรใช้การเติมคันเร่งแบบกดไล่ขึ้นไป เพราะถ้ากดมิดคลิ๊กดาวน์ไปเลย จะมีช่วงจังหวะที่ต้องรออยู่ 2-3 วินาที กว่าอัตราเร่งจะออกมาอย่างเต็มกำลัง ซึ่งโดยส่วนตัวรู้สึกว่ามันเสียจังหวะในการขับขี่ (และรู้สึกว่าจะเปลืองน้ำมันโดยใช่เหตุ) แต่ถ้าลองเปลี่ยนลักษณะในการขับขี่โดยการไล่เติมคันเร่งไปเรื่อย ๆ ความต่อเนื่องของอัตราเร่งก็จะส่งออกมาให้ใช้แบบไม่เสียจังหวะ
หรือว่าถ้าช่วงใจร้อน และต้องการเรียกกำลังให้ออกมาใช้อย่างรวดเร็วตลอดเวลา ก็ควรต้องใช้โหมด S เพราะโหมดนี้รอบเครื่องยนต์จะถูกดึงให้ขึ้นคาอยู่ที่รอบสูง ซึ่งเป็นช่วงของกำลังที่พร้อมให้เรียกใช้ทันที แต่ถ้าจะขับขี่ในลักษณะนี้ก็ต้องยอมรับกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าเรื่องความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงก็รุนแรงตามมาเช่นกัน
โดยเรื่องของอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเท่าที่ได้ลองขับก็มีตั้งแต่ในช่วง 10-18 กม./ลิตร (จากจอแสดงผล) ซึ่งตัวเลขที่ได้จะเป็นแบบไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะในการขับขี่ ถ้าคุณใช้คันเร่งไม่หนัก ไม่เปลือง กับการขับขี่ในเมืองกรุง ที่การจราจรไม่ติดขัดแบบสาหัสมากหนัก ตัวเลขความสิ้นเปลืองระดับ 17-18 กม./ลิตร บนหน้าปัดก็มีให้เห็นได้ตลอด แต่ถ้าคุณเท้าหนักชอบกดคันเร่งหนัก ๆ บ่อย ๆ ตัวเลขความสิ้นเปลืองก็จะหล่นวูบลงไปแถว ๆ 10 กม./ลิตร แบบเป็นการเตือนสติในทางอ้อม 😅
ในส่วนของช่วงล่าง โดยส่วนตัวชอบในเรื่อวความนิ่มนวลที่ความเร็วต่ำ รวมถึงการซับแรงสะเทือนเวลารถที่วิ่งผ่านถนนที่ไม่เรียบ หลุม หรือลูกระนาด ที่ต้องเจอในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดได้เป็นอย่างดี ส่วนเมื่อต้องใช้ความเร็วสูงช่วงล่างก็ยังให้ความมั่นใจในการขับขี่ที่ดี ในช่วงความเร็วระดับ 120-140 กม./ชม. รถยังนิ่งมาก คอนโทรลง่าย เชื่องมือ แถมเมื่อเจอกับโค้งก็ยังสามารถเล่นสนุกกับมันได้อีก ซึ่งจุดนี้ก็เพียงพอกับการใช้านจริงในชีวิตประจำวันแล้ว
แต่ถ้าใครต้องการที่จะใช้ความเร็วที่สูงกว่านั้น เนื่องจากอาจจะสนุกกับสมรรถนะของเครื่องยนต์ที่ทำได้เกินระดับ 200 กม./ชม. ช่วงล่างมันก็ยังไปได้นะ แต่เราไม่แนะนำให้ทำ เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังอันตรายและเกินความจำเป็นในการใช้งานในชีวิตประจำวันด้วย
จุดเด่นของรถยนต์ในตระกูลฮอนด้าอีกอย่างก็คือ ตลาดของแต่งที่มีออกมารองรับอย่างมากมาย รวมถึงสำนักแต่งที่คิดสูตรมาเพิ่มสมรรถนะไว้อย่างเต็มท้องตลาด และชุดพาร์ทชุดแต่งอื่น ๆ ก็มีพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนลุคหรือเสริมหล่ออีกมากมาย เรียกว่าถ้าอยากจะอัพเกรดทั้งเรื่องความสวยงาม สมรรถนะความแรงของเครื่องยนต์หรือช่วงล่าง ก็มีตลาดรอรองรับแบบไร้กังวล
สำหรับราคาจำหน่ายในรุ่น SV (665,000 บาท) ถือว่ามีความน่าสนใจ เนื่องจากอุปกรณ์หลักในการใช้งานถือว่ามีมาให้อย่างเพียงพอ แต่หลายคนอาจจะติว่าออฟชั่นระบบตัวช่วยต่าง ๆ มีมาให้น้อยเกินไป ซึ่งจุดนี้คนที่กำลังจะตัดสินใจก็ควรต้องชั่งน้ำหนักดี ๆ ว่าออฟชั่นมีส่วนจำเป็นต่อคุณแค่ไหน หรือว่าเรื่องของสมรรถนะ หรือความเป็นฮอนด้ามีความสำคัญต่อคุณมากกว่า
เพราะในอีกมุมมอง ถ้าเทียบย้อนกลับไปถึงฮอนด้า ซิตี้ ตัวก่อน ก็ถือว่าในตัวใหม่นี้มีเทคโนโลยี และอะไรต่าง ๆ ที่ดีมากขึ้น แถมมีราคาค่าตัวที่ต่ำลง ซึ่งถ้ามองในแง่ของแฟนฮอนด้าก็ถือว่าคุ้มค่ามากขึ้น แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งซึ่งคงหนีจากการเปรียบเทียบไม่ได้ หลายคนก็คงบ่นว่าแพงกว่าร่วมแสนแถมได้ของน้อยกว่า! แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบและมุมมองของการตัดสินของแต่ละบุคคล
แต่อีกมุมหนึ่งที่อยากจะแชร์ให้เห็นก็คือ รถยอดนิยมที่เป็นความต้องการของท้องตลาด เวลาขายเป็นรถมือสอง ถ้าตอนเป็นรถป้ายแดงแล้วมีราคาแพงกว่า ตอนขายเป็นรถมือสองก็จะมีราคาแพงกว่าเช่นกัน ดังนั้นเรื่องราคาจึงไม่น่าเป็นประเด็นเท่าไหร่นัก ถ้าจะมองในเรื่องของความคุ้มค่า เพราะว่าซื้อมาแพงกว่า ก็น่าจะขายได้แพงกว่า ตามกลไกของตลาดรถยนต์มือสอง แต่ถ้าไม่ใช่รถตลาด หรือรถที่ไม่ได้รับความนิยม แน่นอนว่าราคาขายต่อย่อมร่วงมากกว่าอย่างแน่นอน รวมถึงถ้าฮอนด้าคาดการณ์ผิดในเรื่องของออฟชั่นและการตั้งราคา ซึ่งถ้าผู้บริโภคไม่ยอมรับ ผลที่ได้ก็จะเป็นบทเรียนให้กับฮอนด้าเช่นกัน
แถมข้อคิดอีกซะนิด กับเครื่องยนต์เทอร์โบการที่ต้องมีอุปกรณ์ชิ้นส่วนเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าการดูแล การบำรุงรักษา และโอกาสในการมีปัญหาก็ย่อมมีอัตราส่วนที่มากกว่าตามหลักของทฤษฎี แต่ในการปฎิบัติถ้าเราได้เข้าตรวจเช็ครถตามระยะอย่างสม่ำเสมอ เรื่องจุกจิกหรือปัญหาต่าง ๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกังวลซะเท่าไหร่
บทสรุปของเจ้า ฮอนด้า ซิตี้ เอสวี รุ่นนี้ถือว่าสร้างความประทับใจให้ค่อนข้างมาก กับการเป็นรถซิตี้คาร์ที่อาศัยความได้เปรียบจากพื้นฐานเครื่องยนต์ที่ได้เรตภาษีต่ำจากการผ่านหลักเกณฑ์ของโครงการอีโคคาร์เฟส2 แต่รถยนต์หนึ่งคันก็ย่อมมีจุดดีจุดด้อยที่หลากหลายในตัวเอง ดังนั้นเรื่องของการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลส่วนตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งทางเราก็ได้เพียงแต่พยายามนำเสนอข้อมูลในแง่มุมต่าง ๆ ให้เห็นชัด เพื่อเป็นการประกอบการตัดสินใจ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคุณนั่นเอง 🥰